กันตรึม สุรินทร์
เป็น การละเล่นที่มีมานาน แรกเริ่มนิยมเล่นประกอบพิธีกรรม เรียกว่า เล่นเพลงอารักษ์ รักษาคนไข้โดยมีความเชื่อว่าผู้ป่วยประพฤติผิด เป็นเหตุทำให้เทวดาอารักษ์ลงโทษ รักษาโดยใช้เครื่องดนตรีกันตรึมประกอบในพิธีกรรมดังกล่าว ยังนิยมกันมาถึงทุกวันนี้
มี เครื่องดนตรีประกอบด้วย ปี่อ้อ ซอกลาง กลองโทน ฉิ่ง ฉาบ กรับ และการร้องประกอบเพลงในทำนองต่าง ๆ ร่วม 200 ทำนองเพลง ต่อมาได้นำมาบรรเลงในพิธีแต่งงาน เป็นเพลง กล่อมหอ ของคู่บ่าวสาว และได้พัฒนาวงกันตรึมเป็นกันตรึมประยุกต์ตามสมัยนิยม ปัจจุบันมีอยู่หลายคณะ เช่น วงของชาวบ้านดงมัน คณะน้ำผึ้งเมืองสุรินทร์ ฯลฯ และได้ปรับรูปแบบแข่งขันกันเป็นธุรกิจกันตรึมร็อค กันตรึมเจรียง เป็นต้น
กันตรึมถือเป็นแม่บทของเพลงพื้นบ้านและการละเล่นพื้นบ้านอื่น ๆ ของจังหวัดสุรินทร์ ไม่ทราบแน่ชัดว่ามีมาแต่เมื่อไร ลักษณะเป็นเพลงปฏิพากย์คล้ายเพลงฉ่อย เพลงเรือ หรือลำตัดของภาคกลาง กันตรึมไม่มีแบบแผนของท่ารำที่แน่นอน ไม่เน้นทางด้านการรำ แต่เน้นความไพเราะของเสียงร้องและความสนุกสนานของทำนองเพลง ปัจจุบันมีการพัฒนาเอาเครื่องดนตรีสากลอย่าง กลองชุด กีตาร์ และไวโอลินมาเล่นประกอบตามความนิยมของผู้ดู
ลักษณะ ทั่วไปของเพลงกันตรึม คือ เนื้อร้องเป็นภาษาเขมร จำนวนแต่ละวรรคไม่จำกัด บทเพลงหนึ่งมี 4 วรรค แต่ละบทไม่จำกัดความยาว สัมผัสระหว่างบท บางบทก็มีบางบทก็ไม่มี บทเพลงกันตรึมไม่นิยมร้องเป็นเรื่องราว มักคิดคำกลอนให้เหมาะกับงานที่เล่นหรือใช้บทร้องเก่า ๆ ที่จำกันมา ทำนองเพลงมีหลายจังหวะ ประมาณ 228 ทำนองเพลง มีมากจนบางทำนองไม่มีใครสามารถจำได้เพราะไม่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์ อาศัยการจดจำเท่านั้น คุณค่าของบทเพลงกันตรึมอยู่ที่เนื้อร้องส่วนใหญ่แสดงถึงวิถีการดำเนินชีวิต ในสังคมชนบท กล่าวถึงการทำนา ภารกิจ งานบ้านซึ่งเป็นหน้าที่ของภรรยา การหารายได้เลี้ยงครอบครัวเป็นหน้าที่ของสามี และแสดงค่านิยมในสังคม อาทิ การเลือกคู่ครอง เป็นต้น
(คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ, 2544 : หน้า 130 และ 145-148)
กันตรึมที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยม คือ คณะบ้านดงมัน อ.เมือง จ.สุรินทร์ โดยมีอ.ปิ่น ดีสมและอ.โฆษิต ดีสม เป็นผู้ควบคุมคณะ (วารสารทางวิชาการราชภัฏบุรีรัมย์ ฉบับปฐมฤกษ์ มหกรรมวัฒนธรรม 2541 งานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติและนานาชาติ ครั้งที่ 13 หน้า 51)


วิธีการเล่น
กันตรึมเป็นเพลงพื้นบ้านที่นิยมเล่นกันมากในกลุ่มชนที่พูดภาษาเขมร นิยมเล่นกันมานาน โดยไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดมาตั้งแต่เมื่อไร ลักษณะของเพลงกันตรึมเป็นเพลงปฏิพากย์คล้ายๆ กับเพลงฉ่อย เพลงเรือ หรือ ลำตัดในปัจจุบัน จะแตกต่างกันที่เนื้อร้องกันตรึมเป็นภาษาเขมร ความเป็นมาของการเล่นเพลงกันตรึมสันนิษฐานได้ ๒ ทางคือ
๑. ได้รับอิทธิพลจากเพลงปฏิพากย์ของเขมรในประเทศกัมพูชา เพราะเพลงพื้นบ้านของเขมรคล้ายคลึงกับเพลงปฏิพากย์ของภาคกลาง ทั้งโครงสร้างของเพลง วิธีการแสดง และดนตรีที่ใช้ประกอบ
๒. มีวิวิฒนาการมาจากการใช้กลองกันตรึม(สก็วล)ซึ่งเสียงตีกลองจะดัง โจ๊ะกันตรึ่ม ตรึม มาเป็นชื่อเพลงพื้นบ้าน ที่เรียกว่า กันตรึม
การเล่นกันตรึมจะมีผู้ร้องทั้งฝ่ายหญิง และ ฝ่ายชาย ร้องโต้ตอบกัน ขณะร้องก็จะฟ้อนรำไปตามจังหวะ ท่ารำไม่มีแบบแผนเพียงแต่รำให้เข้าจังหวะดนตรีการเล่นกันตรึม จะเริ่มด้วยการไหว้ครู โหมโรง และเริ่มขับร้องโต้ตอบระหว่างชายหญิง
องค์ประกอบในการเล่นกันตรึม ในการเล่นกันตรึม จะมีองค์ประกอบต่าง ๆ ในการเล่นดังนี้
๑. ผู้เล่น ใช้ผู้เล่นประมาณ ๔ - ๖ คน โดยทั่วไปนิยม ชาย ๒ คน หญิง ๒ คน เพื่อร้องสับเปลี่ยนกัน
๒. สถานที่ แต่เดิมจะเล่นบนบ้าน หรือห้องโถงกว้างๆ คนดูนั่งฟังล้อมรอบอยู่ข้างๆ ต่อมามีการปลูกโรง ยกเวทีสูง ปล่อยโล่งทั้ง ๔ ด้าน เพื่อให้คนดูๆได้รอบ
๓. การแต่งกาย แต่งกายแบบพื้นบ้าน เช่น นุ่งผ้าถุงไหมพื้นเมือง สวมเสื้อคอกลม แขนยาว ห่มสไบเฉียง ชายนุ่งผ้าโจงกระเบน สวมเสื้อคอกลมมีผ้าคล้องไหล่ ทิ้งชายไปด้านหลังทั้ง ๒ ชาย และมีผ้าคาดเอว ต่อมาในระยะหลังจะแต่งกายตามสมัยนิยม
๔. เครื่องดนตรี ประกอบด้วย กลองกันตรึม(สก็วล) ๒ ใบ ซอ(ตรัว) ๑ คัน ปี่อ้อ ๑ เลา ฉิ่ง กรับ ฉาบ ปัจจุบันบางคณะได้นำเอาเครื่องดนตรีสากลมาใช้บรรเลงประกอบ เช่น กลองชุด กีตาร์ หรือ เบส พัฒนาการเล่นไปเป็นเพลงกันตรึมร็อคที่มีจังหวะสนุก
รายการพันแสงรุ้ง สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย ไทยพีบีเอส ThaiPBS กันตรึม เพลงกันตรึม จังหวัดสุรินทร์ Surin High Quality
|
|