ประวัติเป็นมาของซอกันตรึม
ซอกันตรึมเป็นเครื่องดนตรีของกลุ่มชาวไทยเชื้อสายเขมรและชาวไทยอีสาน เป็นเครื่องสายใช้สี ทำด้วยไม้ กะโหลกซอขึงด้วยหนังงูหรือหนังจำพวกตะกวด มีช่องเสียง อยู่ด้านตรงข้ามหน้าซอ คันชักอยู่ระหว่างสาย ขนาดของซอแตกต่างกันไปตามความ ประสงค์ของผู้สร้าง โดยทั่วไปมี 3 ขนาด คือ ขนาดเล็กเรียก ตรัวจี้ ขนาดกลางเรียกตรัวเอก ขนาดใหญ่เรียกตรัว บางครั้งจะเห็นมีการดัดแปลงประยุกต์กระโหลกซอโดยใช้กระป๋องหรือปี๊บซึ่งอาจเรียกแทนว่า ซอกระป๋องหรือซอปี๊บ
ซอกันตรึมเป็นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งที่ใช้ร่วมกับวงดนตรีกันตรึม มีปรากฏในภาคอีสานมานานแล้ว โดยใช้ในการละเล่นพื้นเมืองของชาวไทยเชื้อสายเขมรในเขตอีสานใต้ ซึ่งเป็นชุมชนที่ใช้ภาษาเขมรเป็นภาษาถิ่น เช่น จังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ ตามประวัติแต่โบราณใช้สำหรับขับร้องประกอบการร่ายรำบวงสรวง รำคู่ และรำหมู่ ต่อมามีวิวัฒนาการของการเล่นคล้ายกับการเล่นเพลงปฏิพากย์ ในภาคกลาง มีกลองที่เรียกว่า 'กลองกันตรึม' เป็นหลัก เมื่อตีเสียงจะออกเป็นเสียง กันตรึม โจ๊ะ ตรึม ตรึม การเล่นจะเริ่มด้วยบทไหว้ครู เพื่อระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า พระวิศวกรรม ครูบาอาจารย์ และเริ่มทักทายกัน เล่นได้ทุกโอกาสไม่กำหนดว่าเป็นงานมงคลหรืออวมงคล วงดนตรีประกอบด้วย กลอง ซอ ปี่อ้อ ขลุ่ย ฉิ่ง กรับ ฉาบ กล่าวกันว่า ท่วงทำนองของเพลงกันตรึมมีกว่า ๑๐๐ ทำนอง บทเพลงจะเกี่ยวกับเรื่องเบ็ดเตล็ด ตั้งแต่เกี้ยวพาราสี โอ้โลม ชมธรรมชาติ แข่งขันปฏิภาณ สู่ขวัญ เล่าเรื่อง ฯลฯ
การแต่งกาย แต่งตามประเพณีของท้องถิ่น ผู้หญิงนุ่งซิ่น เสื้อแขนกระบอก ผ้าสไบเฉียงห่มทับ ผู้ชายนุ่งโจงกระเบน เสื้อคอกลมแขนสั้น ผ้าไหมคาดเอวและพาดไหล่ วงดนตรีกันตรึมพื้นบ้านแบบเดิม มีเครื่องดนตรีครบชุด ประกอบด้วย กลองกันตรึม 2 ลูก ซอตรัวเอก 1 คัน ปี่อ้อ 1 เลา ขลุ่ย 1 เลา ฉิ่ง 1 คู่ กรับ 1 คู่ ผู้เล่นมีประมาณ 6 - 8 คน และมีนักร้องชาย - หญิง โดยทั่ว ๆ ไป มักนิยมให้มีชาย 2 คน หญิง 2 คน ถ้าเครื่องดนตรีไม่ครบตามที่กล่าวไว้ วงกันตรึมบางคณะก็อาจจะอนุโลมให้มีเครื่องดนตรีดังนี้ กลองกันตรึม 1 ลูก ซอกันตรึม 1 คัน ฉิ่ง 1 คู่ ซึ่งก็จะมีนักดนตรี เพียง 4 คน และอาจจะมีนักร้องฝ่ายชาย 1 คน และฝ่ายหญิง 1 คน ซึ่งถ้าฝีมือคนเล่นซอมีความสามารถเป็นพิเศษ บรรเลงได้ไพเราะก็จะได้รับความนิยมเช่นเดียวกัน ถือว่าครบชุดเป็นวงดนตรีพื้นเมืองได้
การใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้าน ของชาวอีสานมักจะประดิษฐ์ขึ้นให้สอดคล้องกับธรรมชาติของเสียง ในขณะที่มีเสียงต่ำ ก็จะใช้ซออู้แทน เพื่อให้คล้ายคลึงกับเสียงผู้เฒ่า ใช้ซอด้วงแทนเสียงหนุ่มสาว ซออี้ แทนเสียงธรรมชาติ เช่น สายลมพัดพลิ้ว
ซอกันตรึมเป็นซอ 2 สาย มีช่วงเสียงกลาง มีขนาดเล็กกว่าซออู้มีคันชักติดอยู่กึ่งกลางระหว่างสายทั้ง 2 ที่เรียกว่า สายเอก และสายทุ้ม กะลามะพร้าวที่นำมาแกะและขึ้นหน้าซอกันตรึมนั้น มักนิยมใช้กะลาชนิดพิเศษ รูปร่างกลม รี ขนาดใหญ่ ตัดปาดกะลาออกเสียด้านหนึ่ง แล้วใช้หนังแพะ หรือหนังลูกวัวขึงขึ้นหน้า กว้างประมาณ 9-10 เซนติเมตร เจาะกะโหลกทะลุตรงกลาง ทั้ง 2 ข้าง สอดคันทวนเข้าไปในรูผ่า ทะลุออกมา คันทวนทำด้วยไม้จริง เช่น ไม้ประดู่ ไม้ชิงชัน ขนาดยาวประมาณ 80 เซนติเมตรขึงสายไหมหรือเอ็นที่ปลายลูกบิด 2 เส้น สายเสียงต่ำอยู่ด้านบน สายเสียงสูง(สายเอก) อยู่ด้านล่าง ลูกบิดยาวประมาณ 17-18 เซนติเมตร นำเชือกหรือด้ายป่าน ผูกตรงกึ่งกลางคันทวน เรียกว่า “รัดอก” ที่ด้านหน้าซอ ใช้ไม้ที่มาตัดประมาณ 3 เซนติเมตร เรียกว่า หย่อง
|